“TO BE NUMBER ONE ไม่ได้เป็นสิ่งแปลกประหลาดสำหรับลูกข้าพเจ้า เพราะเกิดขึ้นมาหลายสิบปีแล้ว นับว่าเขาต้องเป็น TO BE NUMBER ONE เป็นคนแรก เคยกรรแสงตอนเด็กๆ เรียนไม่ได้ที่ 1 จะเป็นอย่างไร ตอนใหม่ๆ ก็แย่ รอมาตั้ง 50 ปีกว่าปีแล้ว 40 กว่าปีแล้ว ทำให้ไม่แปลกใจว่า ทำไมต้องโครงการ TO BE NUMBER ONE ซึ่งมันดูแล้วอาจจะน่าหมั่นไส้ว่า เวลาทำไมต้องมี NUMBER ONE แต่เมื่อโครงการนี้กำเนิดขึ้นมาถึง 3 ปี ก็เห็นได้ว่าประสิทธิผล เป็น NUMBER ONE จริงๆ เราขอชมเชยทุกคน ที่ร่วมมือให้โครงการเพื่อช่วยประชาชนที่เกิดความเดือดร้อน มีความสำเร็จเป็นส่วนใหญ่แล้วฉะนั้นจึงบอกว่า”
“ก้าวต่อไปเถอะ ต้องบูรณาการทุกฝ่ายต้องช่วยกัน โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ ให้ถือเป็นหน้าที่โดยตรง ในการดูแลเยาวชนให้ปลอดยาเสพติด”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานในวโรกาส ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี องค์ประธานโครงการ TO BE NUMBER ONE นำผู้แทนคณะกรรมการอำนวยการโครงการฯ เข้าเฝ้าถวายรายงานการดำเนินโครงการฯ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงมีความห่วงใยต่อประชาชนชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เป็นกลุ่มขนาดใหญ่ เพราะมีจำนวนถึง 21 ล้านคน และเป็นกลุ่มที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ยังถือเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดยาเสพติดสูง เนื่องจากเป็นวัยที่ต้องการเรียนรู้ในสิ่งต่างๆ แต่ยังขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ดีพอ รวมทั้งต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจ จึงทรงพระกรุณาธิคุณรับเป็นองค์ประธานโครงการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งปัจจุบันได้ใช้ชื่อเพื่อให้ง่ายต่อการรณรงค์ว่าโครงการ TO BE NUMBER ONE เพื่อรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดภายในประเทศให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ โดยความร่วมมือและรวมพลังจากภาครัฐและเอกชน กระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของปวงชนในชาติให้มีความรู้ ความเข้าใจและตระหนักว่าการที่จะเอาชนะปัญหายาเสพติดมิใช่หน้าที่ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ทุกคนในชาติจะร่วมแรง ร่วมใจกันเป็นพลังของแผ่นดินที่จะต่อสู้และเอาชนะปัญหายาเสพติดให้ได้โดยเร็ว
โดยทรงมีพระประสงค์มุ่งเน้นการรณรงค์ในกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ วัยรุ่นและเยาวชน โดยกลวิธีสร้างกระแสการแสดงพลังอย่างถูกต้องโดยไม่ข้องแวะกับยาเสพติด การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตให้แก่เยาวชนในชุมชน จัดระบบการบำบัดรักษารองรับภายใต้โครงการ “ใครติดยา ยกมือขึ้น” ทั้งนี้เพื่อคืนคนดีสู่สังคมและป้องกันการกลับมาเสพซ้ำ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายสมาชิกและชมรม TO BE NUMBER ONE เพื่อร่วมกันรณรงค์และจัดกิจกรรมป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นเสมือนการเติมสิ่งที่ดีให้กับชีวิต เพื่อให้เกิดค่านิยมของการเป็นหนึ่งโดยไม่ต้องพึ่งยาเสพติด ดังพระราชดำรัสในวโรกาส การแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “TO BE NUMBER ONE” เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2545 ณ ห้องประชุมกระทรวงสาธารณสุข ความว่า “กิจกรรมในโครงการ TO BE NUMBER ONE จะเบนความสนใจจากการหาความสุขชั่วครั้งชั่วคราวจากยาเสพติด อยากให้โครงการนี้สำเร็จด้วยดี แต่จะทำคนเดียวไม่ได้ จึงขอความร่วมมือจากทุกคน ”
"การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดให้หมดจากสังคมไทย ไม่สามารถดำเนินงานให้สำเร็จได้ด้วยการทำงานขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ทุกองค์กร ทุกฝ่ายต้องช่วยกันและการรวมตัวกันของผู้ที่มีความตั้งใจที่จะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด จะทำให้เกิดพลังในการร่วมกันป้องกันปัญหายาเสพติดอย่างเข้มแข็ง"
พระดำรัสทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
ในวโรกาสเสด็จเยี่ยมชุมชน อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี วันที่ 21 กรกฎาคม 2546
"ในการแก้ปัญหายาเสพติดสำหรับเยาวชนนั้น ต้องสร้างภูมิคุ้มกันอย่างเข้าใจ และเข้าถึงจิตใจ ความต้องการของเขา เพราะบางครั้งการเกิด ปัญหายาเสพติดมาจากหลายสาเหตุ จึงต้อง สร้างค่านิยมใหม่ สร้างความมั่นใจให้เขารู้สึกดีกับตัวเอง ให้เขาได้สนุก โดยพยายามหากิจกรรมต่างๆมาใช้ เช่น ดนตรี กีฬา สิ่งเหล่านี้ ทำให้คนมีสังคม มีร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพจิตดี และไม่ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด” เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ควรมาร่วมด้วยกัน"
พระดำรัสทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
ในวโรกาสเสด็จร่วมกิจกรรม TO BE NUMBER ONE
ณ สยามเซ็นเตอร์ วันที่ 6 มิถุนายน 2546
“เยาวชนส่วนใหญ่ที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดมักมีปัญหาทางด้านจิตใจ ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในทางที่เหมาะสมได้ ดังนั้น การสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจให้แก่เยาวชนจึงเป็นการป้องกันปัญหายาเสพติดที่ตรงที่สุด”
พระดำรัสทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี